วิถีพุทธ

วิถีพุทธ
การถวายขันมากเบ็ง

วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

นะโม

นะโมฟัง และอ่านรายงานผลวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับเด็กไทยจากโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์แล้วบอกตรงๆ ครับว่าหดหู่ใจเหลือกำลัง ยอมรับว่านึกไม่ถึงว่าสังคมไทยเราไปไกลในทางลบได้ถึงขนาดนั้น
เด็กๆ มีเพศสัมพันธ์กันตั้งแต่มัธยม ตั้งแต่อายุ 13 ปี หลายคนถูกรุกรานทางเพศ อัตราฆ่าตัวตายสูง อัตราการตั้งครรภ์ในวัยเด็กหรือวัยรุ่นเพิ่มมากขึ้น ขาดทั้งความรู้และความรับผิดชอบ ฯลฯ
ทั้งหมดนั่นเป็นเรื่องน่าตกใจพอๆ กับน่ากลัว แต่โดยส่วนตัวแล้วมันมีความรู้สึกทั้งสองอย่างระคนกันเมื่อได้รับทราบข้อมูลเหล่านี้
ปฏิกิริยาแรกของผมก็คือ นึกถึงครูสอนศีลธรรมของตัวเองในวัยทีนครับ
ครูสอนศีลธรรมของผมเป็นผู้ชาย ผมไม่ใกล้ชิดกับระบบการเรียนการสอนในปัจจุบันมากพอที่จะเปรียบเทียบเนื้อหาที่ผมได้รับเมื่ออยู่ในวัยรุ่นจากคุณครูท่านนี้กับที่เด็กปัจจุบันได้รับ รู้แต่เพียงว่า ครูสอนศีลธรรมของผมท่านทำให้ชั่วโมงศีลธรรมเป็นชั่วโมงที่ผมและเพื่อนๆ ต้องตั้งใจเรียนรู้ครับ
ที่จริงแล้ว เรา ผมหมายถึงตัวเองกับเพื่อนๆ ไม่ได้ใส่ใจกับการเรียนศีลธรรมตั้งแต่แรกเริ่ม
วันหนึ่งเมื่อพวกเรารวนมากเข้า ไม่สนใจที่ท่านสอนมากเข้า ครูสอนศีลธรรมของผมท่านเดินเนิบจากกระดานดำที่กำลังจะเขียนข้อความมายังโต๊ะครูหน้าห้อง โยนหนังสือในมือลงบนโต๊ะปังใหญ่เพื่อเรียกความสนใจจากทุกคน
ท่านถามทั้งห้องเรียบๆ ว่า รู้ไหม ความสำคัญของสิ่งที่พวกเธอจะเรียนในชั่วโมงนี้อยู่ที่ตรงไหน?
ทุกคนในห้องเงียบกริบ จากนั้นท่านร่ายยาวต่อไปว่า สิ่งที่ท่านจะบอกจะสอนให้กับเราในวันนี้และอีกหลายวันข้างหน้าเกี่ยวกับศีลธรรมจรรยานั้นเป็นรากฐานอันสำคัญในการใช้ชีวิตของเราต่อไปในวันข้างหน้า
ท่านบอกว่า เราไม่สามารถเป็นนักเรียนที่ดีได้ ไม่อาจเป็นลูกที่ดีได้ ไม่มีวันเป็นสามีหรือภรรยาที่ดีได้ ที่สำคัญที่สุดคือไม่สามารถเป็นคนดีของสังคมและประสบความสำเร็จอย่างสง่างามได้ในอนาคตถ้าหากไม่เรียนรู้ศีลธรรมจรรยา
ครูสอนศีลธรรมของผมเรียกเพื่อนคนหนึ่งขึ้นมาถามว่า รู้มั้ยว่า เธอควรปฏิบัติตัวต่อเพื่อนผู้หญิงที่นั่งหน้าห้องให้เหมาะสมอย่างไร? เมื่อไม่มีคำตอบ ท่านบอกว่า คิดถึงแม่ตัวเองแล้วถามตัวเองดูว่า ควรหรือไม่ถ้าเราจะให้เกียรติกับผู้หญิงทุกคน?
ท่านสรุปในเวลาต่อมาว่า เราไม่มีวันรู้ว่าระดับความเหมาะสมของการทำตัวต่อคนอื่นอยู่ตรงไหน อย่างไร ถ้าไม่เรียนรู้ศีลธรรมจรรยา
ท่านอธิบายให้ฟังว่าเราจะอดทน อดกลั้นกับการยั่วยุของวัตถุเย้ายวน รูปเสียงกลิ่นรสทั้งหมดได้อย่างไร บอกแม้กระทั่งว่าเราควรจะคิดอะไร ในรูปแบบไหนเมื่อต้องอยู่ตามลำพัง และต้องจัดการกับความเหงา ความทุกข์ที่กัดกร่อนตัวเอง
ท่านทำให้ชั่วโมงศีลธรรมเป็นชั่วโมงที่มีความหมายสำหรับนักเรียนทุกคนในห้องนับตั้งแต่บัดนั้น
ครูสอนศีลธรรมของผมเสียชีวิตไปก่อนที่ผมจะมีโอกาสได้กลับไปบอกท่านว่า ในบรรดาวิชาที่เรียนๆ กันในช่วงนั้นผมนำความรู้จากครูมาใช้ในชีวิตจริงของตัวเองมากที่สุด
ประคองตัวอยู่ได้ด้วยคำครูมาจนถึงทุกวันนี้
วันที่ผมได้ยินเรื่องราวของเด็กๆ วัยรุ่นยุคใหม่แล้วก็ให้นึกถึงครูของผมขึ้นมาจับใจ!

สังคมไทยในอดีต บุคคลไม่ได้ถูกปลูกฝังให้มีศีลธรรมเพราะการเทศนาสั่งสอนหรือการอบรมเลี้ยงดูโดยตรงเท่านั้น หากยังได้รับการกล่อมเกลาทางศีลธรรมจากการมีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัว ชุมชน วัดวาอาราม อิทธิพลจากวิถีชีวิต สภาพแวดล้อม และระบบความสัมพันธ์ประเพณีเป็นสิ่งที่พุทธศาสนาให้ความสำคัญอย่างมาก พระพุทธองค์จึงทรงจัดตั้งคณะสงฆ์และบัญญัติวินัยขึ้นมา คณะสงฆ์ก็คือสภาพแวดล้อมที่จะช่วยกล่อมเกลาภิกษุ ส่วนวินัยก็คือสิ่งที่มากำกับวิถีชีวิต สภาพแวดล้อม และระบบความสัมพันธ์ระหว่างภิกษุในหมู่สงฆ์ เป็นไปในทางที่ดีงาม ก่อให้เกิดวัฒนธรรมที่เกื้อกูลต่อความเจริญงอกงามทางธรรมนั่นเอง กล่าวอีกนัยหนึ่งวินัยก็คือศีลธรรมระดับโครงสร้าง ที่เป็นรากฐานของศีลธรรมระดับวัฒนธรรมนั่นเอง เป็นแต่ว่ามีขอบเขตเฉพาะในหมู่สงฆ์เท่านั้น
ปัญหาหรือจุดอ่อนประการหนึ่งของการเสริมสร้างศีลธรรมในปัจจุบัน โดยเฉพาะในแวดวงองค์กรศาสนา อยู่ตรงที่การเน้นแต่ศีลธรรมระดับบุคคล โดยไม่เห็นความเชื่อมโยงหรือไม่เห็นความสำคัญของศีลธรรมระดับโครงสร้าง โดยเฉพาะในส่วนที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและพฤติกรรม ดังนั้น จึงเน้นแต่การเทศนาสั่งสอนหรือปลูกฝังจิตสำนึกอย่างเดียว แต่ไม่คิดที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสถาบัน หรือระบบต่างๆ ที่แวดล้อมบุคคล อาจจะมีการรณรงค์ให้ทำดีเป็นระยะๆ หรือคัดค้านกฎหมายบางฉบับที่ขัดศีลธรรม แต่ไม่ได้ผลักดันเท่าที่ควรเพี่อให้มีการปรับปรุงสถาบัน หรือเปลี่ยนแปลงระบบและโครงสร้างเพื่อให้ส่งผลในทางบวกต่อศีลธรรม
วินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติแก่คณะสงฆ์ เป็นแบบอย่างของการวางระเบียบชีวิตและระบบสังคมเพื่อให้เอื้อต่อความเจริญงอกงามของธรรมในระดับบุคคล สำหรับศีลธรรมของผู้คนในสังคมวงกว้างนั้น ก็ต้องการระบบสังคมที่เกื้อกูลเช่นเดียวกัน ตัวอย่างที่ชัดเจนปรากฏในกูฏทันตสูตร พระพุทธองค์ได้กล่าวถึงเมืองๆ หนึ่งซึ่งมีโจรผู้ร้ายชุกชุม พระราชาต้องการขจัดโจรผู้ร้ายด้วยการประหัตประหาร จองจำ และเนรเทศ แต่พราหมณ์ได้ทักท้วงว่าวิธีนี้ไม่ได้ผล เพราะถึงอย่างไรก็ปราบไม่หมด ส่วนโจรที่เหลือก็จะมาก่อปัญหาที่ร้ายแรงกว่าเดิมในภายหลัง พราหมณ์ได้เสนอให้พระราชาพระราชทานพันธุ์พืชและอาหารแก่เกษตรกร พระราชทานเงินทุนแก่พ่อค้าวาณิช และพระราชทานอาหารและเงินเดือนแก่ข้าราชการ ปรากฏว่าไม่นานบ้านเมืองก็ปราศจากผู้ร้าย ประชาราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข ไม่ต้องปิดประตูบ้าน แม้แต่เด็กก็ฟ้อนอยู่บนอกแม่อย่างมีความสุข จะเห็นได้ว่าในกรณีนี้ พระราชาไม่ได้ใช้วิธีเทศนาสั่งสอนประชาชนให้มีศีลธรรมเลย เป็นแต่จัดวางระบบเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ให้ทั่วถึง ซึ่งส่งผลถึงพฤติกรรมของผู้คนและในที่สุดก็แก้ปัญหาโจรผู้ร้ายได้
กรณีดังกล่าวมิได้หมายความว่า คนจะมีศีลธรรมได้ก็เพราะมีระบบเศรษฐกิจที่เกื้อกูลเท่านั้น หากต้องการชี้ให้เห็นว่าศีลธรรมของบุคคลนั้น นอกจากคุณธรรมภายในแล้ว ยังต้องอาศัยเงื่อนไขทางสังคมหรือสภาพแวดล้อมภายนอกเป็นองค์ประกอบด้วย พูดอีกอย่างคือต้องมีระบบหรือโครงสร้างที่เกื้อกูลศีลธรรมหรือส่งเสริมให้คนทำดีได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่าง การนำของที่เก็บได้คืนเจ้าของ ซึ่งจัดว่าเป็นความซื่อสัตย์อย่างหนึ่ง แม้คนไทยร้อยละ 96% จะตอบว่า หากเก็บกระเป๋าเงินได้ จะเอาไปคืนเจ้าของ แต่เมื่อมีการทดลองทำกระเป๋าสตางค์ตก ปรากฏว่ามีเพียงร้อยละ 55 เท่านั้นที่เก็บได้แล้วเอาไปคืนเจ้าของ ในขณะที่ชาวญี่ปุ่นมีสัดส่วนการคืนสูงมากจนเป็นที่กล่าวขานกันทั่วโลก ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
คำตอบคงไม่ใช่เป็นเพราะคนญี่ปุ่นมีความซื่อสัตย์สูงกว่าคนไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะประเทศญี่ปุ่นมีระบบที่อำนวยความสะดวกแก่พลเมืองดี เช่น มีศูนย์รับของหายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะบริเวณสถานีรถไฟใต้ดิน ใครที่เก็บของหายได้ จึงไม่ต้องเหนื่อยในการตามหาเจ้าของ เพียงแต่มามอบให้แก่ศูนย์ดังกล่าวก็เบาใจได้ว่าเจ้าของมีโอกาสจะได้คืนสูง ระบบที่สะดวกเช่นนี้ ทำให้ใครๆ ก็ไม่รังเกียจที่จะเป็นพลเมืองดี ในขณะที่คนไทยถ้าหากอยากเป็นพลเมืองดี จะต้องเหนื่อยยากอย่างมากในการตามหาเจ้าของ เพราะไม่มีระบบรองรับ ผลก็คือเมื่อเก็บของตกหล่นได้ จึงไม่ค่อยอยากหาเจ้าของ ถึงตรงนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากแล้วที่จะ "อม" หรือเก็บไว้เป็นของตนเอง
จุดอ่อนประการที่สองในการเสริมสร้างศีลธรรมในสังคมไทย คือการให้ความสำคัญกับวิธีการ "สอน" หรือการพูด แต่มองข้ามการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง หรือการกล่อมเกลาโดยอาศัยสิ่งแวดล้อม ทุกวันนี้ไม่ว่าพ่อแม่ ครู หรือพระจะสอนหรือพูดอย่างไร ก็ไม่อาจยกระดับศีลธรรมของบุคคลได้ เพราะสิ่งที่เขาเรียนรู้จากพฤติกรรมของพ่อแม่ ครู หรือพระนั้น มักเป็นไปในทางตรงข้าม การสอนเรื่องอบายมุข ความซื่อสัตย์ ความเสียสละ และเศรษฐกิจพอเพียง ทุกวันนี้จึงมีผลน้อยมากต่อผู้คนไม่ว่าเยาวชนหรือผู้ใหญ่ เพราะสิ่งที่เอามาสอนผู้คนกับสิ่งที่ผู้คนประสบพบเห็นในชีวิตจริงนั้น สวนทางกัน
สิ่งหนึ่งที่เรามองข้ามไปก็คือ การเรียนรู้นั้นสำคัญกว่าการสอน ไม่ว่าพร่ำสอนเพียงใดก็ตาม แต่หากการสอนนั้นไม่กระตุ้นหรือส่งเสริมการเรียนรู้ของอีกฝ่ายเลย การสอนนั้นก็ไร้ประโยชน์ นี้คือเหตุผลว่าทำไมการสอนส่วนใหญ่ในบ้านและในโรงเรียนจึงไม่ได้ผล ในทางตรงข้ามผู้คนกลับเรียนรู้จากสื่อมวลชนมากมาย ทั้งๆ ที่สื่อเหล่านั้นไม่ได้สอนเลย สื่อไม่เคยสอนว่า วัตถุนิยม ความรุนแรง และการหมกมุ่นทางเพศ เป็นเรื่องดี แต่เนื้อหาของสื่อที่เต็มไปด้วยเรื่องราวเหล่านั้น ก็มากและน่าสนใจพอที่จะกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้และซึมซับพฤติกรรมดังกล่าว
ยิ่งไปกว่านั้นการสอนศีลธรรมโดยให้เด็กท่องจำอย่างเดียว แต่ไม่ส่งเสริมให้เด็กแลเห็นด้วยตนเองว่าศีลธรรมนั้นคืออะไร ดีอย่างไร และจำเป็นอย่างไรต่อชีวิตและสังคม ที่สำคัญคือเด็กไม่ได้ถูกฝึกมาให้เรียนรู้ที่จะเอาใจเราไปใส่ใจเขา เพื่อเข้าใจถึงผลจากการเบียดเบียนผู้อื่น ด้วยเหตุนี้การสอนศีลธรรมไม่ว่าในบ้านหรือในโรงเรียนประสบความล้มเหลว ในทำนองเดียวกันการบังคับให้เด็กนั่งสมาธิ ก็กลับทำให้เด็กเกลียดการนั่งสมาธิไปเลย ทั้งๆ ที่สมาธิเป็นสิ่งที่เด็กสามารถเรียนรู้ได้จากวิธีอื่นๆ อีกมากมาย อีกทั้งการสร้างแรงจูงใจให้เด็กมีฉันทะหรือความชอบในการนั่งสมาธิ ก็เป็นสิ่งสำคัญกว่าการบังคับหรือเอาคะแนนเข้าล่อ
การปลูกฝังและกล่อมเกลาศีลธรรมสามารถทำได้ด้วยวิธีการที่หลากหลาย แม้ไม่ต้องอาศัยการเทศนาหรือการสอนเลยก็ได้ หากสามารถคิดค้นกิจกรรมเพื่อช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เช่น เรียนรู้จากสภาพความเป็นจริง หรือเรียนรู้จากการปฏิบัติและประสบการณ์ตรง (เช่น การไปเป็นอาสาสมัคร) โดยครูเป็นเพียงผู้ชี้แนะ หรือตั้งคำถามให้เด็กคิด นอกจากนั้น กระบวนการกลุ่มก็มีประโยชน์อย่างมากในการส่งเสริมการเรียนรู้ โดยผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ หรือผ่านการทำกิจกรรมร่วมกัน จนเห็นประโยชน์ของการร่วมมือกัน เกิดความเห็นใจกัน หรือเห็นคุณค่าของความหลากหลาย จนเกิดความใจกว้างและเคารพกันมากขึ้น ใช่หรือไม่ว่าคุณสมบัติดังกล่าวก็เป็นศีลธรรมที่สำคัญในยุคปัจจุบัน การศึกษาวิจัยและพัฒนากระบวนการเพื่อเสริมสร้างศีลธรรมในบริบทต่างๆ หรือสำหรับกลุ่มชนระดับต่างๆ เป็นสิ่งที่พึงได้รับความสำคัญให้มากกว่านี้
ตอนที่ผมโตจนเรียนถึงชั้นประถมต้นนั้น เพื่อนเด็กด้วยกันได้ชวนผมไปฝากเงินกับธนาคารออมสินที่พวกเขาฝากกันไว้ก่อนอยู่แล้ว ผมไปอย่างว่าง่ายตามประสาเด็ก คือไม่คิดอะไรมากไปกว่าแค่เอาเงินไปฝากเท่านั้น ที่จะได้ดอกเบี้ยหรือมีความหมายอะไรมากกว่านี้ไม่ได้คิดทั้งนั้น
ที่ตลกยิ่งกว่านั้นคือ เงินที่ผมนำไปฝากนั้นไม่ใช่เงินจากค่าขนมแต่อย่างใด หากเป็นเงินที่ขอจากพ่อเสียมากกว่า และจำนวนเงินที่ผมขอพ่อให้ก็มากกว่าค่าขนมเสียอีก ผมเข้าใจเอาตามประสาเด็กว่า ก็เพราะมันเป็นเงินฝาก ยังไงเสียพ่อก็ต้องให้ง่ายกว่าและมากกว่าค่าขนมอยู่แล้ว
ผมฝากไปๆ จนวันหนึ่งซึ่งเป็นวันของออมสิน ทางออมสินจะแจกของที่ระลึกและกระปุกใส่เงินให้กับขาประจำทุกคน ผมชอบของแจกที่ว่ามาก โดยเฉพาะกระปุกใส่เงินนั้นจะเปลี่ยนรูปแบบไปทุกปี และเพราะเจ้ากระปุกใส่เงินนี่แหละที่ทำให้ผมเริ่มมีความผูกพันการออมมากขึ้นกว่าเดิม
เพราะเมื่อเริ่มโตขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ผมก็เริ่มมีรายได้พิเศษเล็กๆ น้อยๆ (ซึ่งสำหรับเด็กแล้วไม่น้อยเลย) อยู่เสมอ และทุกครั้งที่ได้มา ผมจะรู้สึกหวงรายได้นั้นอยู่ลึกๆ รู้สึกเสียดายถ้าหากจะใช้มัน ผมจึงนำรายได้นั้นหย่อนใส่กระปุกไป
ใส่ไปๆ จนใกล้ๆ จะครบปีมันก็จะเต็มของมันเอง ถึงตอนนั้นผมก็ตัดหรือแกะกระปุกมานั่งนับเงินกับพี่น้อง จำได้ว่าตอนที่นับไปลุ้นไปจนตัวเลขถึงหลักร้อยนั้น ผมตื่นเต้นจนบอกไปถูก เพราะไม่คิดว่าตนเองจะมีเงินได้ถึงร้อย ยิ่งนับไปเฉียดสองร้อยด้วยแล้ว ก็ยิ่งตื่นเต้นไปใหญ่
ความตื่นเต้นนั้นเองที่ทำให้ผมได้คิดได้รู้สึกว่า เงินจำนวนนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน แต่เป็นผลมาจากการออมนานนับปี ซึ่งจะออมแต่ละทีนั้นก็ต้องตัดใจไปที ตอนนั้นเองที่ทำให้ผมตระหนักถึงค่าของเงินขึ้นมาอย่างช้าๆ
จะด้วยความเป็นเด็กหรืออะไรก็ตามที ผมไม่ได้คิดไปถึงคนอื่นๆ ว่าเขาตระหนักอย่างที่ผมตระหนักหรือไม่ ต่อจนเมื่อผมโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว จึงได้พบว่า ผู้คนในสังคมไทยไม่ว่าจะชาติไหนๆ ต่างก็มีวิถีในการอดออมเป็นของตนเอง
วิถีในการอดออมที่ว่านี้ไม่ได้หมายความแค่เพียงการนำเงินไปเก็บหอมรอมริบเท่านั้น หากยังหมายถึงการประหยัดอีกด้วย
และเมื่อพูดถึงการประหยัด ผมก็ไม่อยากให้คิดไปเพียงแค่การอยู่การกินอย่างประหยัดอย่างที่เข้าใจกันในทุกวันนี้ หากแต่ยังครอบคลุมไปถึงการปฏิบัติตนอย่างประหยัดต่อข้าวของเครื่องใช้ที่แวดล้อมตัวเราอีกด้วย เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นผมขอเล่าเรื่องจริงเรื่องหนึ่งเป็นตัวอย่าง เรื่องนี้เกิดขึ้นในบริษัทใหญ่ในจังหวัดที่ผมอยู่ (บริษัทนี้หากเอ่ยชื่อขึ้นมาแล้วก็จะรู้จักกันดี) และบริษัทนี้มีวิถีปฏิบัติหนึ่งของตนที่พวกเราเห็นกันจนชินกระทั่งไม่รู้สึกแปลกแยก
วิถีที่ว่าคือ เนื่องจากบริษัทนี้เป็นบริษัทใหญ่ กิจกรรมหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำแทบทุกวันคือเรื่องการส่งเอกสารระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกบริษัทกันไปมา เอกสารพวกนี้จะถูกใส่ซองทุกครั้งที่ส่งไปให้กับอีกหน่วยหนึ่ง
ที่ผมชอบมากก็คือ ทุกครั้งที่มีการส่งเอกสารคืนมาก็ดี หรือส่งเอกสารใหม่ต่อไปยังหน่วยอื่นก็ดี คนที่ส่งจะยังคงใช้ซองเดิมโดยเพียงแต่เปลี่ยนจ่าหน้าเล็กน้อยเท่านั้น ซองจดหมายหรือเอกสารซองนั้นจะถูกใช้ไปจนกระทั่งไม่มีเนื้อที่ให้ได้จ่าหน้าอีกต่อไป จึงเท่ากับหมดอายุการใช้งานไป ซึ่งกว่าจะหมดได้นั้นก็ใช้เวลานานนับเป็นสิบวันหรือไม่ก็เป็นเดือน
แม้จะไม่รู้ว่าสำนึกในการประหยัดเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ผมเชื่ออย่างแน่นอนว่า จะต้องสัมพันธ์กับทัศนคติในเรื่องการอดออมอย่างแยกขาดจากกันไม่ได้
พูดง่ายๆ คือ ถ้าไม่รู้จักอดออมก็จะไม่รู้จักการประหยัดนั่นเอง
ว่ากันถึงการอดออมแล้ว ผมเชื่อว่าคนไทยแทบทุกคนคงได้รับการอบรมมาตั้งแต่ยังเล็ก จะมียกเว้นก็แต่ลูกเศรษฐีบางครอบครัวเท่านั้น ที่ดูจากปรากฏการณ์ก็พอรู้ว่า ไม่เพียงไม่ได้รับการอบรมเท่านั้น ในทางตรงข้ามยังอาจถูกสอนให้ใช้จ่ายเงินอย่างเต็มที่เต็มไม้เต็มมืออีกต่างหาก
แต่ที่ผมอดสงสัยอยู่ไม่น้อยก็คือว่า ทุกวันนี้การอบรมเช่นว่ายังคงมีอยู่หรือไม่ หรือถ้ามีมีมากน้อยแค่ไหน? ที่สงสัยก็เพราะระยะหลังมานี้เห็นมีโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ ให้คนไทยอดออมกันราวกับว่าคนไทยไม่รู้จักการอดออมมาก่อนยังไงยังงั้น
แม้ผมจะไม่รู้เหตุผลลึกๆ ของการรณรงค์โฆษณาดังกล่าว แต่ก็เชื่อว่า รัฐคงเห็นว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยในทุกวันนี้ไม่รู้จักอดออม หรือไม่ก็ไม่ประหยัดกันเสียแล้ว อย่างหลังนี้รัฐสะท้อนผ่านด้วยการชี้ให้ว่า คนไทยยังมีการใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นให้เห็นอยู่ เช่น การกินเหล้า การซื้อเครื่องสำอางใช้ เป็นต้น
ในทางตรงข้าม เมื่อพูดถึงการอดออมแล้ว รัฐก็ชี้ให้เห็นว่า นอกจากจะต้องรู้จักอดออมแล้ว คนไทยยังจะต้องทุ่มเททำงานเพื่อสร้างฐานะควบคู่กันไปด้วย
เห็นโฆษณาที่ว่าแล้วก็รู้สึกผิดสังเกต นั่นคือ กลุ่มเป้าหมายที่รัฐต้องการรณรงค์นั้นเป็นกลุ่มคนในชนบทอย่างเป็นด้านหลัก ถ้าเป็นคนเมืองบ้างก็เป็นคนเมืองในวันคืนเก่าๆ เมื่อสี่ห้าสิบปีก่อน คือเป็นกลุ่มคนที่เคยปากกัดตีนถีบมาพร้อมกับยุคพัฒนา ข้อสังเกตนี้แสดงให้เห็นว่า หลายสิบปีที่ผ่านมานี้รัฐยังคงไม่เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อคนในชนบทไปมากนัก
คือรัฐยังคงเชื่อว่าที่คนไทยจนหลักดานอยู่ในทุกวันนี้ก็เพราะใช้เงินไม่เป็น หรือไม่ก็ยังไม่ทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างเต็มที่ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วคนในชนบทที่จนลงนั้น เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งมาจากการถูกแย่งชิงทรัพยากรในนามของการพัฒนา ส่วนคนเมืองในวันคืนเก่าๆ ที่ต่อสู้ดิ้นรนจนได้ดีนั้น ด้านหนึ่งที่ได้ดีก็เพราะนโยบายการพัฒนาที่เอื้อต่อคนเมืองเช่นกัน กล่าวอีกอย่างก็คือ ถ้ารัฐไม่มีนโยบายที่ว่า ต่อให้ดิ้นรนไปจนตายก็ไม่มีทางได้ดีดังทุกวันนี้เป็นแน่
อย่างหลังนี่เองที่ชี้ให้เห็นว่า คนเมืองที่เติบโตเป็นชนชั้นนายทุนก็ดี เป็นชนชั้นกลางก็ดี ต่างก็เป็นคนที่ได้รับอภิสิทธิ์ผ่านนโยบายรัฐนั่นเอง และตราบจนทุกวันนี้ เราก็สามารถพบเห็นจนชินตาไปด้วยว่า คนกลุ่มนี้ตกอยู่ในลัทธิบริโภคนิยมมากกว่าคนในชนบทเสียอีก แต่กลับไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่รัฐรณรงค์ให้จัดทำบัญชีค่าใช้จ่ายหรือให้ประหยัด
ในขณะที่คนชนบทและคนงานในฐานะกลุ่มเป้าหมายนั้น ข้อมูลจากสำนักงานสถิติพบว่า คนเหล่านี้กลับมีหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย คือเพิ่มจากครัวเรือนละ 83,314 บาทเมื่อปี 2545 มาเป็น 103,940 บาทในปี 2547 และในจำนวนหนี้ที่เพิ่มนี้มีอยู่ 67,189 บาทเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ซึ่งคิดเป็นกว่าร้อยละ 60
ผมสงสัยมากว่า ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนนั้นประกอบไปด้วยอะไรบ้าง? และจ่ายไปในเรื่องที่มีผลิตภาพหรือไม่? เพราะถ้าเรารู้ข้อมูลตรงนี้เราก็จะรู้ต่อไปว่า สิ่งที่คนเหล่านี้จ่ายนั้น จ่ายด้วยแรงจูงใจอะไร เช่น เพราะจำเป็น เพราะเกิดประโยชน์ต่ออาชีพ เพราะค่านิยม หรือเพราะบริโภคนิยม ฯลฯ
แต่ที่ผมไม่สงสัยเลยก็คือ หนี้สินที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายประชานิยมที่รัฐนำมาปรนเปรอนั่นเอง และก็ด้วยเหตุนี้ ผมจึงไม่คิดว่าการรณรงค์ให้ชาวบ้านประหยัดหรืออดออมของรัฐในครั้งนี้จะกระตุ้นอะไรได้มากนัก และเป็นเรื่องที่สิ้นเปลืองงบประมาณไปเปล่าๆ
และถ้าจะมีเหตุผลใดที่ผมควรเห็นด้วยกับการรณรงค์นี้แล้ว เหตุผลนั้นก็ไม่ใช่อะไรอื่น หากคือแผนการตลาดอีกแผนหนึ่งที่มุ่งทำขึ้นมาให้ผู้คนเข้าใจว่ารัฐปรารถนาดีต่อตน ทั้งที่โดยพฤติกรรมแล้วตรงข้ามโดยสิ้นเชิง
ทุกครั้งที่บ้านเมืองประสบภาวะวิกฤต ทุกคนจะคิดถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยพระองค์ได้ทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรมาโดยตลอด ยามนี้ กระแสสังคมมีการพูดถึงพระราชดำรัสเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระองค์ได้เคยพระราชทานแก่รัฐบาลชุดต่างๆ และคณะบุคคลที่ได้เข้าเฝ้าฯ
ผู้จัดการออนไลน์ ขอน้อมนำบางส่วนของพระราชดำรัสในเรื่องดังกล่าวมาเผยแพร่ส่งผ่านถึงประชาชนคนไทยทุกคน ด้วยคิดว่า เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวคิดที่ทันสมัยอยู่เสมอ และสอดคล้องเหมาะควรกับประเทศไทยและคนไทยทุกยุคทุกสมัย ต่อไปนี้ คือบางส่วนของพระราชดำรัสที่พระองค์ได้พระราชแก่รัฐบาลและคณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าถวายพระพรเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540
วิกฤต...อะไรที่ควรทำ อะไรที่ควรเว้น
ในระยะนี้ที่บอกว่าเป็นระยะวิกฤต ก็ต้องพิจารณาอยู่เสมอว่า “อะไรที่ควรจะทำ อะไรที่ควรจะเว้น” ที่ท่านเห็นอยู่บนเวทีนี้คงแปลกใจ ทำไมจะมาตี “กลองยาว” หรืออย่างไร แต่ว่าข้อสำคัญหีบที่ใส่กลองยาวนี้เห็นได้ชัดว่า เขียนว่า “เมดอินไทยแลนด์”
เมดอินไทยแลนด์นี่จะเป็นประโยชน์ ถ้าเรามาใช้ของไทย ซื้อของไทย เที่ยวเมืองไทย กินข้าวไทย อันนี้จะได้ประโยชน์ แต่ว่าก็ไม่แก้ปัญหา ปัญหามีอยู่ว่า เมื่อผู้ที่ทำกลองนี้เขาเป็นบริษัท เป็นร้านที่นำเข้าสินค้าที่เขาขาย เขาบอกแย่ เพราะเขานำเข้ามา ก็ต้องเสียเงินแพง และต้องขายในราคาเดิมที่มีการตกลงว่าจะขาย เขาบอกขาดทุน แต่เขามีความคิดอยู่ เขาสามารถที่จะผลิตกลองนี้และส่งนอก ส่งไปที่อเมริกาส่วนหนึ่ง ส่งไปที่ยุโรปส่วนหนึ่ง และเขาทำงานหนัก ก็เพิ่งได้ส่งไป หมายความว่า เขาถัวกับที่เขาสั่งเข้า เขาถัวไปก็ยังพอไปได้ ถ้ากลองนี้เป็นที่นิยมมาก ก็สามารถที่จะมีกำไรและประเทศชาติก็จะมีกำไรไปด้วย
หมายความว่า การสั่งของจากต่างประเทศ มีความจำเป็นบ้างในบางกรณี แต่ก็สามารถที่จะส่งออกนอก ซึ่งผลิตที่ทำในเมืองไทย ไม้ที่ใช้ก็เป็นไม้ที่มีในเมืองไทย คือเป็นไม้ที่โดยมากก็ไม่ค่อยได้ใช้ ไม่ใช่ไม้ต้องห้าม อย่างที่เขาห้ามตัดป่าไม้ ไม่ใช่ไม้ที่เป็นป่าไม้ เป็นไม่ยางพารา ไม้ยางพาราที่ต้องเปลี่ยนเพื่อให้มีผลผลิตยางให้ดี เขาก็เปลี่ยน เขาก็ตัดยางเก่าเอามา โดยมากก็ไม่ได้ใช้มากนัก มาตอนหลังเขาใช้ทำเครื่องเรือน แต่สำหรับในกรณีนี้เขาลงไปภาคใต้ไปซื้อไม้ยางพารามาด้วยตนเองแล้วมาทำกลองนี้ มีกลองแบบกลองยาวและมีกลองเล็กๆ ใช้ไม้ในเมืองไทย และที่ขึงหนังบนกลองก็เป็นสิ่งที่ผลิตในเมืองไทยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นสามารถทำให้มีการส่งออกสิ่งของที่ทำด้วยวัตถุดิบในเมืองไทยและทำด้วยแรงงานของคนไทย อันนี้เป็นการแก้ไขสถานการณ์วิกฤตอย่างดี เป็นของเอกชน เขาทำเอง แต่ก็ต้องเหน็ดเหนื่อย เขาบอกเหนื่อยมากจะเป็นโรคประสาท เพราะว่าทำไม่ทันที่จะส่ง แต่เมื่อส่งแล้ว เขาก็มาพบและมามอบผลิตผลของเขา และบอกว่า สบายใจขึ้น อันนี้เป็นวิธีแก้ไขที่เห็นเป็นประจักษ์ว่า ทำได้ แต่ต้องมีความเพียร ต้องมีความอดทน
ดังนี้ ทำให้ได้คิดว่า ทำไมวิกฤตการณ์เกิดขึ้นได้ เราเป็นเมืองอุดมสมบูรณ์ และเราได้ชื่อว่า กำลังก้าวหน้าไปสู่เมืองที่เป็นมหาอำนาจทางการค้า ทำไมเกิดวิกฤตการณ์
ความจริงวิกฤตการณ์นี้เห็นมาแล้ว แต่ไม่รู้ตัวมา 40 กว่าปี เมื่อ 40 กว่าปี มีผู้หนึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยมาขอเงิน ที่จริงเคยได้ให้เงินเขาเล็กๆ น้อยๆ เขาบอกไม่พอ เขาก็ขอยืมเงิน ขอกู้เงิน ก็บอกเอ้าให้ แต่ขอให้เขาทำบัญชี บัญชีรายรับ บัญชีรายจ่าย รายรับคือเงินเดือนของเขา และรายรับที่อุดหนุนเขา ส่วนรายจ่ายก็เป็นของที่ใช้ในครอบครัว แต่มีสิ่งหนึ่งที่ครั้งนั้นไม่เข้าใจ ไม่เคยเห็น ไม่เคยทราบ คือมีรายการหนึ่งบอกว่า “ค่าแชร์” แล้วอีกตอนหนึ่ง ก็มีค่าแชร์อีก
ก็ถามเขาว่า “แชร์” คืออะไร? เขาก็อธิบายว่า เป็นเงินที่จ่ายให้เจ้ามือทุกเดือน และเมื่อเดือดร้อนก็ขอประมูลแชร์ได้ แต่ประมูลนี้หมายความว่า สมมติแชร์ 100 บาท เขาจะได้รับคล้ายๆ เป็นเงินกู้ เงินควรจะเป็นเงิน 1,200 บาทในปีหนึ่ง ก็ควรจะดี แต่ว่าเขาไม่ได้ 1,200 บาท เขาได้ 800 บาท หรือ 700 บาท แล้วแต่ประมูลได้ แล้วคนที่มีเงิน เขาไม่ประมูล เขาทิ้งไว้ในแชร์นั้น พอถึงเวลา เขาก็ได้กลับคืนเงินมาเต็มเม็ดเต็มหน่วย
อย่างนี้ถามเขาว่า สามารถจะหมุนเงินนี้ได้หรือเปล่า? ถามว่าทำไมแชร์แล้วยังซ้ำแชร์อีก เขาบอกว่า สำหรับจ่ายแชร์เดือนนั้น ต้องทำแชร์สัปดาห์ 7 วันนี้เขาเปียแชร์มาเพื่อไปใช้ค่าแชร์เดือน เขานึกว่าเขาฉลาด และความจริงแชร์นี้ไม่ใช่เฉพาะคนนี้ทำ แต่ทั่วไปทุกแห่ง ทั้งราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม ก็มี ทุกบริษัททุกส่วน แม้เอกชนก็มีแชร์ เลยบอกให้เขาเลิกแชร์ และให้ทำบัญชีมา ทีหลังเขาทำบัญชีมา เขาไม่ขาดทุนแล้ว เขาสามารถที่จะมีเงินพอใช้ เพราะว่าบอกเขาว่า เรามีเงินเดือนเท่าไร จะต้องใช้ภายในเงินเดือนของเรา เพราะการทำแชร์เท่ากับเป็นการกู้เงิน กู้เงินนำมาใช้ในสิ่งที่ไม่มีรายได้ อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ
มีอีกรายหนึ่งในระยะนั้นเมื่อ 40 ปีมาแล้ว เขาขอกู้เงิน 30,000 บาท เอาไปซื้อเครื่องมือสำหรับตัดเย็บป้าให้ภรรยาทำร้าน ก็ตกลงให้เขา ในที่สุด เมื่อเขาตั้งร้านแล้ว เขาก็เอาเงินมาคืนทุกเดือนสม่ำเสมอ จนกระทั่งหมดจำนวนที่ได้ให้กู้ ด้วยความฉลาด ด้วยความซื่อสัตย์ของเขา รู้ว่ากิจการนี้จะทำให้มีกำไรได้ สามารถที่จะคืนเงินมาให้ครบจำนวนที่กู้ ต่อไปเป็นกำไรทั้งนั้น ก็ชมเขาว่าดี คนนี้เขาเป็นคนซื่อสัตย์ ในที่สุดมาเป็นคนที่ช่วยในด้านช่างฝีมือ และได้รับใช้อย่างซื่อสัตย์จนกระทั่งถึงสิ้นอายุ
มีอีกรายหนึ่ง เขาเอาหัวเข็มขัดมาให้ เราถามว่า หัวเข็มขัดนี้เอามาให้ทำไม ในที่สุดทราบว่า เขาขอกู้เงิน อันนี้เป็นสิ่งที่ประหลาด เพราะว่าเขาไม่มีเงินใช้ ทำไมไปซื้อหัวเข็มขัด ซึ่งก็ราคาไม่ใช่ถูก แล้วเอามาให้ เลยบอกเขาว่าไม่ให้ เพราะทราบดีว่า ถ้าให้เขา เขาจะไม่มีเอามาใช้เรา ไอ้เงินจะให้เขาก็มี แต่ว่าถ้าให้เงินเขาแล้วก็ไม่มีผล คือเขาเอาไปใช้อีลุ่ยฉุยแฉก และไม่มีผลอย่างผู้ที่ขอกู้สำหรับทำอาชีพ จะกลายเป็นการทำให้คนเขายิ่งเสียใหญ่ อันนี้เป็นสิ่งที่จะต้องสอน กู้เงิน เงินนั้นจะต้องให้เกิดประโยชน์ มิใช่กู้สำหรับไปเล่นไปทำอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์
อันนี้มีอีกคนหนึ่ง เขาจะแต่งงานและขอกู้เงิน เลยนึกว่าคนนั้นเขาทำงานมาดี น่าจะให้เหมือนเป็นรางวัลเขา ก็ให้เงินเขา 10,000 บาท สมัยโน้น 10,000 บาทมิใช่น้อย 10,000 บาทเพื่อไปจัดงานแต่งงานของเขา เขาก็ตกลงแต่งงานและยังไม่ได้คืนเงิน ไม่ค่อยถืออะไร เพราะว่าเขาแต่งงาน เขามีความสุขก็ดีไป เขาทำงานได้ดี แต่หารู้ไม่ สักปีสองปีให้หลังเขามาขอเงิน 30,000 บาท ก็บอกเอ๊ะ! 30,000 บาท เอาไปทำอะไร เขาบอกว่า เมื่อแต่งงาน เงินเขาไม่พอ เลยไปกู้เงินที่อื่นมา แต่ใช้คืนไม่ได้ เลยต้องเสียดอกเบี้ย จนกระทั่งใช้คืนเงินต้นหมดแล้ว ต้องใช้ดอกเบี้ยจำนวนนั้นด้วยคือ 30,000 บาท ไม่นับ 10,000 บาทที่เราให้เขาไปแล้ว หมายความว่า ไปติดนุงนังหนี้ ไม่สามารถที่จะใช้ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร
ได้รู้อีกว่า ถ้าไม่ได้อย่างนี้ เขาจะฆ่าตัวตาย เพราะว่าไม่มีทางออก เงินเดือนเขาไม่พอจะใช้หนี้ ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่ต้องจ่ายดอกเบี้ย เพราะว่าต้องติดอีกต่อไปทบต้น ก็เห็นว่า ครั้งแรกเขายืมเงินสำหรับแต่งงานน่าจะมีความสุข กลับมีความทุกข์ เลยไหนๆ ให้ไป 10,000 บาท แล้วก็ให้ไปให้ครบที่จะไปใช้หนี้ได้ ลงท้ายเขาสามารถที่จะมีชีวิตต่อไป และทำงานได้ แต่คงเป็นบทเรียนที่ดี อันนี้หมายความว่า เขาขอเราก็ให้ เราจะได้ช่วยชีวิตเขา
มีอีกรายหนึ่ง เป็นคนข้างนอก มาบอกว่า ลูกของเขาเจ็บตา ถ้าไม่ทำอะไรตาจะบอด เราก็สงสารเขา ให้เงินเขา 30,000 บาทเหมือนกัน ลงท้ายไม่ทราบว่า ลูกเขาได้ไปผ่าตัดตาได้ผลดีอย่างไร แต่วันหนึ่งโผล่มาอีกทีบอกว่า รักษาตาลูกเรียบร้อยแล้ว แต่ขอบ้านอยู่ และบ้านนั้นเขาไปสืบเสร็จว่า บ้านนั้นว่าง แล้วมาขออยู่ฟรี เลยเลิกเลย เพราะเขาควรจะมีฐานะพอสมควรที่จะมีบ้านอยู่ บ้านที่ขอนี้นับว่าเป็นบ้านใหญ่ ถ้าขอบ้าน ถ้าให้บ้าน เขาก็ต้องมาขอค่าใช้จ่ายสำหรับบ้านอีก เมื่อบ้านใหญ่คงมีญาติมีเพื่อนมาอาศัยบ้าน ก็ต้องเสียเงินอีก เลยบอกว่าไม่ให้ ที่พูดว่าไม่ให้นั้นเรียกว่า มีความเดือดร้อนเหมือนกันที่จะพูดอย่างนั้น จะว่าสงสารก็สงสาร เวลาใครมาขออะไรแล้วไม่สามารถที่จะให้ มันก็ไม่ค่อยสบายใจ ในที่สุดก็เงียบไป ข้อเหล่านี้ที่เล่าให้ฟัง เพราะว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤตการณ์ในปัจจุบัน
ทำอย่างเหมาะสมกับอัตภาพ
ขอเล่านิทานอีกเรื่อง คือ ไปทางชลบุรีครั้งหนึ่งก็หลายสิบปีแล้ว มีพ่อค้าคนหนึ่งเขาบอกว่า เขาทำโรงงานสับปะรดกระป๋อง เขาลงทุนเป็นล้าน จำไม่ได้ว่ากี่ล้านเพื่อสร้างโรงงาน การลงทุนมากอย่างนั้น เลยบอกให้เขาทราบว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะว่าเคยทำโรงงานเล็กๆ ที่ทางภาคเหนือ ใช้เงิน 300,000 บาท เพื่อที่จะเอาผลิตผลของชาวบ้านชาวเขามาใส่กระป๋องแล้วขาย ก็ได้ผล เพราะเป็นโรงงานเล็กๆ แต่โรงงานเขาเองลงทุนเป็นล้าน รู้สึกว่าเสี่ยง เขาบอกว่า ต้องทำอย่างนั้น เขาก็ลงทุน ทำไปทำมาสับปะรดที่อำเภอบ้านบึงและที่ชลบุรีก็มีไม่พอ ต้องไปสั่งสับปะรดมาจากปราณบุรี ต้องขนส่งมา ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ทำไปทำมาโรงงานก็ล้ม อย่างนี้แสดงให้เห็นว่า ทำโครงการอะไรต้องให้นึกถึงขนาดที่เหมาะสมกับที่เรียกว่า อัตภาพหรือกับสิ่งแวดล้อม
รอบคอบและอย่าตาโต
นี่พูดไปพูดมายังคิดถึงอีกรายหนึ่งที่ลำพูน มีการตั้งโรงงานสำหรับแช่แข็งผลผลิตของชาวไร่ ได้ไปเยี่ยมแล้วเขาบ่นว่า คุณภาพของข้าวโพดที่ใช้ใส่กระป๋องสำหรับแช่แข็ง คุณภาพไม่ค่อยดี เขาบอกว่า ซื้อในราคาแพงไม่ได้ ตอนนั้นไม่ทราบว่าเขาจะมีอันเป็นอย่างไร ได้บอกเขาว่า น่าจะส่งเสริมให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพด ให้ได้ข้าวโพดที่คุณภาพดี โรงงานจะเจริญ เขาบอกว่าให้ไม่ได้ เพราะว่าคุณภาพเขาไม่ดี อันนี้เป็นปัญหาโลกแตก ถ้าไม่ให้ราคาดีหรือไม่สนับสนุนเกษตรกร ก็ทำให้ข้าวโพดคุณภาพดีไม่ได้
เรื่องนี้ตอนแรกอาจจะดูเหมือนขาดทุน ดูจะไม่ได้ประโยชน์ จะไม่ได้คุณภาพ จะได้ข้าวโพดที่ฟันหลอ ซึ่งเขาบอกเขาต้องทิ้ง เพราะว่าเครื่องจักรของเขาต้องมีข้าวโพดที่มีขนาดที่เหมาะสม เมื่อเป็นอย่างนั้น ความจริงไม่ได้แช่งเขา แต่นึกในใจว่าโรงงานอยู่ไม่ได้ และในที่สุดก็จริงๆ ก็ล้ม อาคารอะไรต่างๆ ยังอยู่เดี๋ยวนี้ แต่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เกะกะอยู่อย่างนั้น ฉะนั้นการที่จะทำโครงการอะไร จะต้องทำด้วยความรอบคอบและอย่าตาโตเกินไป
คือบางคนเขาเห็นว่า แม้มีโอกาสที่จะทำโครงการอย่างโน้นอย่างนี้ และไม่ได้นึกถึงว่าปัจจัยต่างๆ ไม่ครบ ปัจจัยคือ ขนาดของโรงงาน หรือเครื่องจักรที่สามารถจะปฏิบัติได้ แต่ข้อสำคัญที่สุด คือวัตถุดิบ เอาวัตถุดิบมาแล้วไม่สามารถที่จะให้ค่าตอบแทนกับเกษตรกรที่นำวัตถุดิบมาส่ง ยิ่งถ้าวัตถุดิบสำหรับทำในโรงงานนั้น เป็นวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าก็ยิ่งยาก เพราะว่าวัตถุดิบที่นำเข้านั้น ราคาไม่สม่ำเสมอ บางปีวัตถุดิบนั้นบริบูรณ์ ราคาอาจจะต่ำลงมา แต่เวลาจะขายสิ่งของที่ทำที่ผลิตจากโรงงานหรือจากกิจการก็ขายยากเหมือนกัน เพราะมีมาก จึงทำให้ราคาตก อันนี้เป็นกฎเกณฑ์ที่ต้องมี
ข้อสำคัญอยากจะพูดถึงว่า ถ้าหากว่าเราทำโครงการที่เหมาะสม ขนาดที่เหมาะสม อาจจะไม่ดูหรูหรา แต่ว่าจะไม่ล้ม หรือถ้าล้มถ้ามีอันตรายไปก็ไม่เสียมาก เช่น โรงงานกระป๋องที่ริเริ่มทำที่อำเภอฝางนั้น วันหนึ่งเขาติดต่อมา บอกว่าน้ำท่วม น้ำจากเขาลงมา พัดโรงงานเสียหาย เลยบอกว่าไม่เป็นไร จะสนับสนุนเงินเพิ่มเติม เพราะที่ดินตรงนั้นซื้อแล้ว เครื่องมือเครื่องใช้ก็ไม่เสียหมด ก็สนับสนุนเขาอีก 400,000 ก็ตั้งขึ้นมาใหม่ต่อไป ก็ใช้งานได้มีกำไร อันนี้หลายปีมาแล้ว
เศรษฐกิจแบบพอเพียง
มาใหม่ๆ นี้ โครงการต่างๆ ก็เกิดขึ้น โรงงานก็เกิดขึ้นมาก จนกระทั่งคนเขานึกว่าประเทศไทยเป็นเสือตัวเล็กๆ และเป็นเสือตัวโตขึ้น เราไปเห่อว่า จะเป็นเสือ ความจริงเคยพูดเสมอในที่ประชุมอย่างนี้ว่า การจะเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกิน และมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินหมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ให้มีพอเพียงกับตัวเอง อันนี้เคยบอกว่า ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่ให้ตัวเองสำหรับครอบครัว อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอจะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไร ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก
อย่างนี้นักเศรษฐกิจต่างๆ ก็มาบอกว่า ล้าสมัย จริง..อาจจะล้าสมัย เพราะว่าคนอื่นเขาก็ต้องมีการเศรษฐกิจที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน เรียกว่าเป็นเศรษฐกิจการค้า ไม่ใช่เศรษฐกิจความพอเพียง รู้สึกไม่หรูหรา แต่เมืองไทยเป็นประเทศที่มีบุญอยู่ว่า การผลิตที่พอเพียงทำได้
อย่างข้าวที่ปลูก เคยสนับสนุนให้ปลูกข้าวให้พอเพียงกับตัวเอง เก็บเอาไว้ในยุ้งเล็กๆ แต่ละครอบครัวเก็บ และถ้ามีพอก็ขาย แต่คนอื่นกลับบอกว่า ไม่สมควร โดยเฉพาะทางภาคอีสาน เขาบอกต้องปลูกข้าวหอมมะลิเพื่อที่จะขาย อันนี้ถูกต้องข้าวหอมมะลิขายได้ดี แต่เมื่อขายแล้ว ของตัวเองจะบริโภคเองต้องซื้อ จะซื้อจากใคร ทุกคนปลูกข้าวหอมมะลิ ในภาคอีสานส่วนมากเขาชอบบริโภคข้าวเหนียว ซึ่งใครจะเป็นคนปลูกข้าวเหนียว เพราะว่าประกาศโฆษณาว่าคนที่ปลูกข้าวเหนียว เป็นคนโง่ อันนี้ที่เป็นสิ่งสำคัญ เลยสนับสนุนบอกว่า ให้เขาปลูกข้าวบริโภค เขาชอบข้าวเหนียวก็ปลูกข้าวเหนียว เขาชอบข้าวอะไรก็ตาม ให้เขาปลูกข้าวอย่างนั้น และเก็บไว้เพื่อใช้บริโภคตลอดปี ถ้ายังมีที่ที่จะทำนาปรังหรือมีที่มากพอสำหรับปลูกข้าว ก็ปลูกข้าวหอมมะลิเพื่อที่จะขาย ที่พูดอย่างนี้เพราะว่า ข้าวที่ปลูกสำหรับบริโภคไม่ต้องเที่ยวรอบโลก ถ้าข้าวที่ซื้อมา ต้องข้ามจังหวัดหรืออาจจะข้ามประเทศมา ค่าขนส่งนั้นก็บวกเข้าไปในราคาข้าว
เขาบอก ขายข้าวหอมมะลิได้ราคาแพง ซึ่งเป็นความจริง ตอนที่ขายผู้บริโภคในต่างประเทศ แต่ต้นทางไม่ได้ค่าตอบแทนมากนัก และยังต้องไปซื้อข้าวบริโภค ซึ่งจะแพงกว่า เพราะว่าต้องขนส่งมา ข้อนี้ได้ทราบดี เพราะว่าเมื่อมีภัยธรรมชาติ จะเป็นที่ไหนก็ตาม สมมติว่ามีอยู่ที่เชียงราย ทางเจ้าหน้าที่บอกว่า ออกไปสงเคราะห์และก็ขอข้าวที่จะไปแจก เราก็ซื้อข้าวในราคากรุงเทพฯ หมายความว่าข้าวนั้นมาจากเชียงราย เพราะเชียงรายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ มาจากเชียงราย เสียค่าขนส่งเท่าไร แต่แท้จริงไปซื้อที่เชียงรายได้ ซื้อที่กรุงเทพฯ แต่ให้เขาจ่ายที่เชียงราย ข้าวนั้นไม่ต้องเดินทาง แต่ว่าราคาเขาเดินทาง คือ พ่อค้าเขานำข้าวในนามในเอกสารนำเข้ากรุงเทพฯ เขาเอาค่าเดินทางของข้าวจากเชียงรายเข้ากรุงเทพฯ และบวกค่าเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเชียงราย ลงท้ายต้องเสียเงินราคาข้าวแพง ผู้ที่บริโภคข้าวในภาคเหนือก็ต้องเสียแพงเช่นเดียวกับภาคใต้ ถ้าใกล้หน่อยอย่างนราธิวาสก็ซื้อข้าวจากพัทลุง
สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของเศรษฐกิจแบบค้าขาย ภาษาฝรั่งเขาเรียก Trade Economy ไม่ใช่แบบพอเพียง ซึ่งฝรั่งเรียก Self-Sufficient Economy ถ้าเราทำแบบที่ไหนทำได้ คือเศรษฐกิจแบบพอเพียงกับตัวเอง เราก็อยู่ได้ไม่ต้องเดือดร้อน
พูดกลับไปกลับมาในเรื่องการค้า การบริโภค การผลิต และการขาย รู้ว่าท่านทั้งหลายกำลังกลุ้มใจในวิกฤตการณ์ ตั้งแต่คนที่มีเงินน้อยจนกระทั่งคนที่มีเงินมาก แต่ถ้าสามารถที่จะเปลี่ยนให้กลับเป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ต้องทั้งหมด แม้จะไม่ถึงครึ่ง อาจจะเศษหนึ่งส่วนสี่ ก็จะสามารถที่จะอยู่ได้ การแก้ไขจะต้องใช้เวลา ไม่ใช่ง่ายๆ โดยมากคนก็ใจร้อนเพราะเดือดร้อน แต่ว่าท่านทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ก็จะสามารถที่จะแก้ไขได้
ในเมืองไทยนี้มีที่ดินกว้างขวางพอสมควร แม้จะมีอัตราการเพิ่มของพลเมืองขึ้นมามาก แต่ก็ยังมีที่ดิน แต่ที่ดินส่วนมากเป็นที่ดินแร้นแค้น ที่ไม่ดี บางแห่งก็เปรี้ยว บางแห่งก็เป็นด่าง บางแห่งก็เค็ม หรือบางแห่งก็ไม่มีดินเลย อย่างเช่นที่ชะอำ เดินๆ ไปสงสัยว่า ทำไมตรงนี้ดินมันแข็ง มันเป็นดาน ดานไม่มีดินเลย เดี๋ยวนี้กำลังหาวิธีซึ่งใช้ได้ผลไปส่วนหนึ่งแล้ว โดยใช้หญ้าแฝก หญ้าแฝกนั้นจะระเบิดหิน นึกว่าการค้นคว้าเหล่านี้อาจจะไม่ทันในสถานการณ์ปัจจุบันทันที แต่ก็มีหวังภายในปีสองปีนี้ก็สามารถทำให้คนมีที่ทำกินมากขึ้น และใช้วิทยาการสมัยใหม่สามารถที่จะให้ผลผลิตดีขึ้น
เรื่องนี้จะต้องมีการลงทุนสำหรับการวิจัย จะต้องมีการลงทุนช่วยสำหรับผู้ที่จะเป็นเกษตรกร ดังนั้นเงินที่ยังเหลืออยู่ เอาไปสนับสนุนในทางนี้ ส่วนหนึ่งจะเป็นผลที่ดี จะเป็นผลช่วยประเทศไทยให้รอดพ้นวิกฤตการณ์ ซึ่งเชื่อว่า ประเทศไทยนี้จะสามารถพ้นวิกฤตการณ์ได้ดีกว่าหลายประเทศ เพราะว่าที่ดิน ภูมิประเทศยังให้ หมายความว่า ยังเหมาะสมกับความเป็นอยู่ได้ แต่ว่าความเป็นอยู่ต้องไม่ฟุ้งเฟ้อ ต้องประหยัด และต้องไปในทางที่ถูกต้อง
ต้องถอยหลัง เพื่อก้าวหน้า
ที่วันนี้ได้พูดไปแล้วนั้น เป็นวิธีแก้ไขสถานการณ์วิกฤตในปัจจุบันวิธีหนึ่ง เพราะในสมัยนี้เป็นสมัยที่พูดกันได้ว่า โลกาภิวัตน์ ซึ่งเราก็จะต้องทำตามประเทศอื่นด้วย เพราะว่าถ้าไม่ทำตามประเทศอื่นตามคำสัญญาที่มีไว้ เขาอาจจะไม่พอใจ แต่ว่าทำไมเขาไม่พอใจ เพราะว่าของเขาเองก็มีวิกฤตการณ์เหมือนกัน การที่ประเทศใกล้เมืองไทยในภูมิภาคนี้มีวิกฤตการณ์ด้วย ก็ทำให้เราฟื้นจากวิกฤตการณ์นี้ยากขึ้น และไม่ใช่เฉพาะประเทศที่อยู่ในภูมิภาคนี้ แม้ประเทศที่ดูท่าทางเจริญรุ่งเรืองดี ก็ยังรู้สึกว่า ก็กำลังจะเดือดร้อนขึ้น เพราะว่าถ้าไม่แก้ไขวิกฤตการณ์ในมุมไหนของโลก ส่วนอื่นของโลกก็จะต้องเดือดร้อนเหมือนกัน ฉะนั้นต้องดูว่า เราพยายามที่จะอุ้มชูประชาชนได้ และให้ประชาชนได้ทำงานได้ มีรายได้ ก็จะสามารถผ่านวิกฤต ถ้าจะทำแบบนี้ที่เคยมีนโยบาย คือผลิตสิ่งของทางอุตสาหกรรมมากเกินไป ในเมืองไทยตลาดก็น้อยลง เพราะว่าคนมีเงินน้อยลง แต่ข้อสำคัญเขาบอกว่า ให้ส่งออกไปยังประเทศอื่น ประเทศอื่นเขาก็เดือดร้อนเหมือนกัน เขาก็ไม่ซื้อ ถ้าผลิตเป็นผลิตผลทางอุตสาหกรรมและไม่มีผู้ซื้อ ก็เป็นหมันเหมือนกัน
นี่ก็เป็นเรื่องของการแก้ไขวิกฤตการณ์ แต่ว่าผู้ที่ชอบเศรษฐกิจแบบสมัยใหม่อาจจะไม่ค่อยพอใจ มันต้องถอยหลังเข้าคลอง มันจะต้องอยู่อย่างระมัดระวัง และต้องกลับไปทำกิจการที่อาจจะไม่ค่อยซับซ้อนนัก คือใช้เครื่องมือที่ไม่หรูหรา อย่างไรก็ตามมีความจำเป็นที่จะต้องถอยหลังเพื่อที่จะก้าวหน้าต่อไป และถ้าไม่ทำอย่างที่ว่า ก็จะแก้วิกฤตการณ์นี้ยาก
ใช้สติปัญญา ทำหน้าที่เพื่อส่วนรวม
ยังไม่ได้พูดถึงคำที่ทุกครั้งเคยพูด ว่าต้องสามัคคีกัน ต้องอย่าปัดขากันมากเกินไป แต่ว่าไม่ได้หมายความว่า จะต้องมีการทำแบบที่บางคนนึกจะทำ คือจะต้องให้ทุกคนมีโอกาสทำงานตามหน้าที่ และเมื่อทำงานตามหน้าที่แล้วก็หวังดีต่อผู้อื่น อันนี้เป็นหลักที่สำคัญ คือทำงานด้วยการเห็นอกเห็นใจกัน และทำด้วยความขยันหมั่นเพียร
วันนี้ได้พูดเรื่องราวที่อาจจะน่าคิดและท่านเองเป็นผู้ที่มีความรู้ ก็ต้องใช้ความรู้ความฉลาดที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ ในการนี้ ขอให้ทุกท่านซึ่งมีหน้าที่แต่ละท่านพยายามใช้สติปัญญาและกำลังให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งนี้ ประเทศชาติจะก้าวหน้าและมีความปลอดภัยต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: